เกี่ยวกับโครงการ
การผลิตและส่งเสริมการเลี้ยง“ไก่ลิกอร์” สู่เกษตรกรในภาคใต้
เกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ และประมง อาชีพเหล่านี้มีความผันผวนทางรายได้เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกเช่น ฤดูกาล ราคาตลาด ปริมาณผลผลิต ทำให้เกษตรกรขาดรายได้บางช่วง เมื่อวิเคราะห์กลไกตลาด กองวิจัยเศรษฐกิจยาง ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย รายงานราคายางไตรมาสที่ 2/2563 โดยภาพรวมปรับตัวลดลง ราคายางแผ่นดิบเฉลี่ย ณ ตลาดกลาง ยางพาราอยู่ที่ 37.97 บาท/กก. ปรับตัวลดลง 3.05 บาท/กก. คิดเป็นร้อยละ 7.44 (กองวิจัยเศรษฐกิจยาง ฝ่ายวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย, 2563) ปาล์มน้ำมันมีราคาประมาณ 3.17 บาท/กก. ในขณะที่ราคาไก่พื้นเมืองมีชีวิตมีความผันผวนต่ำ โดยไก่พื้นเมืองน้ำหนัก 1.5 กก. ราคาประมาณ 70 ถึง 120 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ไก่เนื้อได้ราคาประมาณ กก.ละ 35 ถึง 40 บาท ดังนั้นเพื่อลดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรายได้ ลดความยากจนของเกษตรกร จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพหลักเพิ่มเพื่อให้มีรายได้ตลอดปี การเลี้ยงไก่พื้นเมืองก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดปี เนื่องจากไก่พื้นเมืองเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายเมื่อเทียบกับปศุสัตว์ชนิดอื่น ใช้พื้นที่น้อย อีกทั้งให้เนื้อที่มีรสชาติดี โปรตีนสูง ไขมันต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ อีกทั้งเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตสั้นให้ผลตอบแทนเร็วโดย 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 2 ถึง 3 รอบการผลิตต่อปี แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตไก่พื้นเมืองก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เนื่องจากไก่พื้นเมืองมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตน้อย จึงใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ทางโครงการเล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงได้นำผลการวิจัยเรื่องไก่พื้นเมืองมาต่อยอดผลิตเป็นไก่พื้นเมืองลูกผสม ชื่อว่า “ไก่ลิกอร์” (Ligor) มีที่มาจาก L=Low cholesteral, I=It’s delicious, Go= High growth rate, R= Rich vitamin and mineral เป็นไก่ลิกอร์ที่มีอัตลักษณ์ตรงกับวิถีการเลี้ยงของเกษตรกรในพื้นที่และการบริโภคของผู้บริโภคทางภาคใต้ ข้อดีของการเลี้ยงไก่พื้นเมืองพันธุ์ไทยคือ ลดการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศ และยังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีในครัวเรือนของเกษตรกร เพิ่มการใช้อาหารที่เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่ต้องจัดซื้อ เป็นพื้นฐานในการสร้างไข่ไก่ธรรมชาติ และไข่ไก่อินทรีย์ เพื่อรองรับตลาดระดับสูงต่อไป นำไปสู่รายได้ที่มีความยั่งยืนในชนบทตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกิดความเข้มแข็งของชุมชนมากขึ้นในอนาคตและสอดรับกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศไทย ได้มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยการ “ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากหญ้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ โครงการนี้จึงมุ่งเน้นการผลิตไก่ลิกอร์ ขยายฐานการเลี้ยงไก่ลิกอร์ให้เป็นอาชีพที่มั่นคงครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ การพัฒนาสมาร์ทแฟลตฟอร์มสำหรับห่วงโซ่อุปทานไก่พื้นเมือง เพื่อให้ผู้ค้าและผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้อย่างถูกต้องและสร้างการรับรู้การบริโภคไก่พื้น เมืองเป็นวงกว้าง สร้างเส้นทางการตลาดไก่ลิกอร์ที่ชัดเจนเพื่อการบริหารจัดการกลุ่มการเลี้ยงไก่ลิกอร์อย่างยั่งยืน และยกระดับการผลิตไก่ลิกอร์สู่การตลาดเชิงพาณิชย์